Style Sampler

Layout Style

Patterns for Boxed Mode

Backgrounds for Boxed Mode

1000/25-26 ชั้น 10 อาคารลิเบอร์ตี้พลาซ่า ซอยสุขุมวิท 55 คลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพ 10110

0853666690

พิธีกรรมและเกร็ดความเชื่อทางศาสนาของการแต่งงาน

พิธีกรรมและเกร็ดความเชื่อทางศาสนาของการแต่งงาน

pic2

การที่คนสองคนจะใช้ชีวิตคู่ร่วมกันนั้น สิ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากคือ การดำรงชีวิตต่อไปในวันข้างหน้าของคนทั้งคู่ให้ตลอดรอดฝั่ง เป็นรากฐานที่ดีของลูกหลานสืบต่อไป แน่นอนว่าตลอดช่วงชีวิตคู่ของคนทั้งสองจะต้องพานพบอุปสรรคนานา ทั้งที่มีเหตุมาจากคนทั้งคู่เอง และที่มีเหตุมาจากคนรอบข้างของทั้งคู่ ดังนั้น แทบทุกชาติ ทุกศาสนา จะนำเอาพิธีกรรมตามความเชื่อของหลักศาสนาตน มาใช้สร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้กับพิธีการแต่งงาน และสร้างความเป็นสิริมงคลในชีวิตคู่ของคนทั้งสองให้ครองรักกันไปได้ยาวนานตราบชั่วลูกชั่วหลาน

พิธีกรรมทางศาสนา

            การประกอบพิธีแต่งงานของแต่ละชนชาตินั้น จะมีรูปแบบและขั้นตอนในการประกอบพิธีกรรมที่แตกต่างกันไปตามความเชื่อของหลักศาสนาที่ยึดถือปฏิบัติกันมาแต่ดั้งเดิมจนเป็นประเพณีปฏิบัติของแต่ละชนชาติไป ซึ่งจะเห็นได้ว่าในบางครั้งแม้จะยึดถือศาสนาเดียวกัน แต่เพราะมีถิ่นสืบทอดอยู่กันคนละทิศทาง ดังนั้นการประกอบพิธีแต่งงานจึงแตกต่างกันตามความเชื่อที่ได้ยึดถือปฏิบัติตามหลักศาสนาที่แตกต่างกันไปด้วย

            ในส่วนของไทยเรานั้นได้ให้เสรีภาพในการนับถือศาสนาต่างๆ ดังนั้น ประเพณีแต่งงานของหนุ่มสาวไทยในปัจจุบัน จึงรับเอาประเพณีที่ให้ความสะดวกแก่ตนมาปฏิบัติ ในบางครั้ง หากคู่บ่าวสาวไม่ได้นับถือศาสนาพุทธ แต่ก็อาจมีพิธีแห่ขันหมากแบบไทย ร่วมกับการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของตนก็ได้ หรือถ้าคู่บ่าวสาวนับถือกันคนละศาสนาก็อาจจะประกอบพิธีกรรมของทั้งสองศาสนาเลยก็ได้ ถ้าพิธีกรรมนั้นไม่เป็นข้อห้ามของอีกศาสนาหนึ่ง หรือถ้าทั้งคู่ไม่ได้ยึดถือเคร่งครัดในข้อปฏิบัติทางศาสนาทุกข้อ

พิธีแต่งงานแบบไทย

            พิธีแต่งงานของไทย ที่ยึดถือปฏิบัติกันมาแต่โบราณนั้น ฝ่ายชายจะต้องส่งเถ้าแก่ ซึ่งเป็นบุคคลที่ได้รับการเคารพจากทั้งฝ่ายชายและหญิง เป็นผู้ไปเจรจาสู่ของฝ่ายหญิงจากพ่อแม่ของฝ่ายหญิงให้แก่ชายแล้ว เถ้าแก่ผู้นี้ยังจะต้องเป็นนายประกันรับรองความประพฤติของฝ่ายชายนั้นด้วย ดังนั้นแล้วผู้ใหญ่ของฝ่ายหญิงจึงให้ความเชื่อถือ และกล้ายกบุตรสาวของคนให้เป็นภรรยาแก่ชายนั้น แต่ในยุคสมัยปัจจุบัน หนุ่มสาวมักเป็นผู้ที่ตัดสินใจในการแต่งงานของคนทั้งคู่เอง ดังนั้น ผู้ที่จะทำหน้าที่เป็นเถ้าแก่สู่ขอจึงไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ที่ผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่ายรู้จัก และให้ความเคารพนับถือก็ได้ โดยส่วนใหญ่ พ่อแม่ของฝ่ายชายหรือผู้ใหญ่ที่ฝ่ายชายให้ความเคารพนั้นแหละที่เป็นผู้ที่ทำหน้าที่นี้เอง

            เมื่อการเจรจาสู่ขอกันแล้ว ผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายก็จะตกลงกันในเรื่องสินสอดทองหมั้น ตลอดจนเรือนหอ ขันหมาก ผ้าไหว้และการหาฤกษ์ยามสำหรับพิธีการต่างๆ ซึ่งในสมัยนี้จะถือฤกษ์ยามกันก็แต่เฉพาะกำหนดวันหมั้น วันประกอบพิธีมงคลสมรส หรือวันแต่งนั่นแหละ ฤกษ์รดน้ำเจ้าบ่าวเจ้าสาวฤกษ์ปูที่นอน และฤกษ์ส่งตัวเข้าหอเท่านั้น บางคู่ก็ถือฤกษ์สะดวกทั้งหมดเลยก็มี

วันหมั้น

            เมื่อถึงกำหนดวันหมั้น ฝ่ายชายจะนำขันหมาก ซึ่งจะมีเงินสินสอดทองหมั้นตามที่ผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันไว้ใส่พานหรือขันเงินใบใหญ่มาพร้อมกันถาดขนมต่างๆ ทั้งชายและหญิงจะกราบขอพรจากผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่าย และต่างสวนแหวนให้กัน เป็นอันเสร็จพิธี

วันแต่ง

            เจ้าบ่าวจะยกขบวนแห่ขันหมากไปบ้านเจ้าสาว เมื่อมาถึง ทางญาติพี่น้องและเพื่อนสนิทของฝ่ายเจ้าสาวจะออกมากั้นประตู โดยส่วนใหญ่ก็จะใช้สร้อยเงิน หรือสร้อยทองเป็นอุปกรณ์ในการกั้นขวางไว้เป็นประตู ถ้าเป็นในอดีตก็จะกำหนดไว้ 3 ประตู คือประตูเงิน ประตูทอง และประตูแก้ว แต่สำหรับปัจจุบัน ฝ่ายเจ้าสาวมักจะแกล้งให้เจ้าบ่าวต้องจ่ายเงินเยอะๆ ด้วยการกั้นหลายๆ ประตูและสำหรับประตูสุดท้ายยังคงต้องจ่ายหนักเช่นเดียวกับประเพณีเดิมที่ปฏิบัติกันมา เมื่อเจ้าบ่าวได้พบกับเจ้าสาวแล้ว ก็จะเป็นการให้ศีลให้พรของผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่าย ในบางคู่ผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายจะผูกข้อมือและอวยพรให้คู่บ่าวสาวมีความสุขสมหวังให้ชีวิตคู่ แต่บางคู่ก็จะทำพิธีรดน้ำสังข์กัน

banner-promo

Share this with friends