พิธีแต่งงานแบบจีน
พิธีแต่งงานแบบจีน
ประเพณีแต่งงานของคนจีนที่อยู่ในไทยนั้น ไม่ค่อยแตกต่างไปจากประเพณีแต่งงานของไทยนัก คนจีนมีการสู่ขอโดยเถ้าแก่ของฝ่ายชายเช่นกัน มีการหมั้นเหมือนกัน โดยในวันหมั้นฝ่ายชายก็จะนำสินสอดทองหมั้น ใส่พานมา พร้อมกับถาดขนมต่างๆ เงินที่นำมาในวันหมั้นนี้ ฝ่ายหญิงจะนำมาใช้ซื้อชุดแต่งงาน และข้าวของเครื่องใช้สำหรับวันแต่ง รวมถึงขนมที่จะแจกญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง เพื่อเป็นการแจ้งข่าวการแต่งงานนี้ให้ทราบกัน ซึ่งปัจจุบันทั้งฝ่ายชายและหญิงจะเป็นผู้ไปแจกด้วยตัวเอง พร้อมบัตรเชิญร่วมงานเลี้ยงรับรองการแต่งงาน ซึ่งซองของบัตรเชิญนี้แขกจะใส่เป็นเงินช่วยเหลือการจัดงานแต่งของคู่บ่าวสาวกลับมาให้ ซึ่งก็จะคล้ายกับของไทยนั่นเอง
วันแต่ง
พิธีแต่งงานของคนจีนจะต่างกับคนไทย ตรงที่พิธีแต่งงานของไทย เจ้าบ่าวจะยกขบวนขันหมากไปทำพิธีแต่งงานกันที่บ้านเจ้าสาว (อาจมาแต่งกันที่บ้านเจ้าบ่าวก็ได้ แต่ไม่เป็นที่นิยมนัก) แต่สำหรับพิธีแต่งงานของคนจีนแล้ว เจ้าบ่าวจะต้องยกขบวนขันหมากไปรับเจ้าสาวมาทำพิธีแต่งงานกันที่บ้านเจ้าบ่าว ก่อนที่เจ้าบ่าวจะมาถึงทางครอบครัวของเจ้าสาวจะทำพิธีให้เจ้าสาวกราบไหว้บรรพบุรุษและพ่อแม่ และจัดกินเลี้ยงส่งตัวเจ้าสาวกันก่อน
เมื่อเจ้าบ่าวมาถึงบ้านเจ้าสาว ญาติพี่น้องของฝ่ายหญิงทุกคนจะยังไม่ออกมาต้อนรับ จนกว่าเจ้าบ่าวจะก้าวข้ามพ้นประตูเข้ามาแล้ว เมื่อญาติพี่น้องออกมาต้อนรับเจ้าบ่าวแล้ว ก็จะพาเจ้าบ่าวไปพบกับเจ้าสาว ระหว่างทาง ก็ต้องผ่านประตูเงิน ประตูทอง เช่นเดียวกับประเพณีของไทยนอกจากเงินใส่อั่งเปาที่เจ้าบ่าวต้องเตรียมไว้ให้กับญาติพี่น้อง และเพื่อนทางฝ่ายเจ้าสาวแล้ว เจ้าบ่าวยังต้องเตรียมเงินใส่อั่งเปาให้กับพ่อแม่ของฝ่ายหญิงด้วย เพื่อเป็นค่าเจ็บท้องคลอดหรือที่คนจีนเรียกว่า “โตเที้ยเน็ก” ตรงนี้จะคล้ายกับอีกหลายชนชาติ ซึ่งโดยความหมายแล้วก็คือ ทางครอบครัวของฝ่ายหญิงต้องเสียแรงงานคนหนึ่งไป ดังนั้นฝ่ายชายจึงต้องจ่ายค่าทดแทนให้ กับครอบครัวของฝ่ายหญิงคืน
ก่อนออกจากบ้านของฝ่ายหญิง ทั้งเจ้าบ่าวและเจ้าสาวต้องกินขนมอี๋ (ขนมบัวลอยของไทยนั่นแหละ แตะปั้นเป็นลูกแดงๆ ไม่มีไส้) ใส่ไข่สองฟอง โดยทั้งสองต่างต้องป้อนให้กันและกัน เพื่อเป็นนัยถึงความรักใคร่ กลมเกลียมกัน จากนั้นพ่อ หรือพี่ชายของเจ้าสาวจะไปส่งเจ้าสาวขึ้นรถ
พิธียกน้ำชา
เมื่อรับเจ้าสาวมาถึงบ้านแล้ว เจ้าสาวจะต้องยืนรออยู่หน้าบ้านก่อน จนกระทั่งญาติพี่น้องทางฝ่ายชายจะ จุดไฟบริเวณใกล้ธรณีประตูขึ้นเสียก่อน เจ้าสาวจึงก้าวข้ามธรณีประตูไปได้ (ถ้าเป็นของฝรั่งเจ้าบ่าวต้องอุ้มเจ้าสาวก้าวข้ามธรณีประตูเรือนหอ) เมื่อเข้ามาในบ้านแล้ว เจ้าบ่าวเจ้าสาวก็ต้องทำพิธีสักการบูชาฟ้าดิน ถวายสัตย์ปฏิญาณกราบไหว้บรรพบุรุษและพ่อแม่ของฝ่ายชายจากนั้นทั้งคู่ก็ยกน้ำชาให้พ่อแม่ของฝ่ายชาย ขณะเดียวกันพ่อแม่ของ ฝ่ายชายก็จะให้ศีลให้พร พร้อมกับให้เงินอั่งเปากับคู่บ่าวสาว (จะต่างกับของไทยที่พ่อแม่ของฝ่ายหญิงจะเป็นผู้ให้เงินทุนแก่คู่บ่าวสาว) จากนั้นก็ส่งตัวเข้าหอ (ถ้าเป็นพิธีจีนโบราณแล้ว จะจัดให้มีงานเลี้ยงฉลองก่อน รอจนกระทั่งได้เวลาตามฤกษ์จึงส่งตัวเจ้าบ่าวเจ้าสาวเข้าหอ)
พิธีเยี่ยมบ้านของเจ้าสาว
ตามประเพณีของจีนนั้นวันรุ่งขึ้นหลังส่งตัวเข้าหอแล้ว เจ้าสาวจะต้องกลับมาเยี่ยมบ้านของตนประมาณ 3 วัน แต่สำหรับปัจจุบันไม่จำเป็นต้องอยู่นานขนาดนั้นก็ได้ แค่กลับมาไหว้บรรพบุรุษและพ่อแม่พอเป็นพิธีเท่านั้น ก็พอโดยน้อยชายหรือหลานชายจะเป็นผู้มารับเจ้าสาวกลับมาบ้าน จากนั้นในตอนค่ำก็จะจัดให้งานเลี้ยงฉลองอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งสมัยโบราณงานเลี้ยงนี้จัดขึ้นที่บ้านเจ้าบ่าว โดยจัดขึ้นหลังจากที่เจ้าสาวกลับมาจากเยี่ยมบ้านตนเอง และจะกลับมาอยู่บ้านเจ้าบ่ายอย่างถาวรแล้ว แต่ในปัจจุบันเป็นงานเลี้ยงรับรองพิธีมงคลสมรส ซึ่งมักนิยม จัดตามสถานที่จัดงานทั่วๆไป
Likes