ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยา
กฎหมายได้กำหนดให้มีหน้าที่ต่อกัน คือ
1.ต้องอยู่กินด้วยกันฉันสามีภรรยา
2.ต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตน
3.ต้องเป็นผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์ในกรณีที่คู่สมรสเป็นคนไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ
“อนึง ในการอยู่กินด้วยกันฉันสามีภรรยานั้น เป็นที่เข้าใจกันตามประเพณีทั่วไปว่า นอกจากจะร่วม บ้านเดียวกัน ร่วมชีวิตในการครองเรือนแล้ว ยังหมายรวมถึงการร่วมประเวณีต่อกันด้วย ดังนั้นหากสามีหรือภรรยา ไม่ยินยอมอยู่กินด้วยกันฉันสามีภรรยากับอีกฝ่ายหนึ่ง ย่อมเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้ เรื่องนี้เคยเป็นประเด็นวิพากษ์ของกลุ่มเรียกร้องเพื่อสิทธิสตรี โดยมองว่าข้อเขียนเช่นนี้ของกฎหมายเป็นการให้สิทธิสามีข่มขืนภรรยาได้อย่างถูกต้อง ซึ่งการขืนใจภรรยาในสายตานักเรียกร้องสิทธิสตรีมองว่าเป็นหนึ่งในรูปแบบความรุนแรง ในครอบครัว”
ความพยายามในการเรียกร้องครั้งนี้ได้รับการตอบรับจนมีการแก้กฎหมายใหม่ในมาตรา 276 ซึ่งเดิมกำหนดไว้ว่า “ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราหญิงซึ่งมิใช่ภริยาของตน โดยขู่เข็ญด้วยประการใดๆโดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยหญิงอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้หรือโดยทำให้หญิงเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่แปดพันบาทถึงสี่หมื่นบาท…” โดยให้เปลี่ยนคำว่า “ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่น” ซึ่งประโยคนี้หมายความว่ากฎหมายให้ความคุ้มครองทั้งหญิงและชาย หรือนัยในทางการครองคู่ฉันสามีภรรยา ยุคใหม่ก็คือ การจะมีกิจกรรมรักร่วมกันต้องกระทำเมื่อทั้งสองฝ่ายยินยอมพร้อมใจกัน
ความสัมพันธ์ทางด้านทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยา ในเรื่องนี้กฎหมายไม่เคร่งครัดเท่ากับ เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยา โดยกฎหมายยังรับรองถึงความตกลงกันเป็นอย่างอื่นได้ แต่ทั้งนี้จะต้อง อยู่ภายใต้ขอบเขตเงื่อนไขของกฎหมายด้วย ทั้งนี้กฎหมายได้แบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยาออกเป็น 2 ประเภทคือ สินส่วนตัวและสินสมรส
- สินส่วนตัว คือทรัพย์สินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของสามี หรือภรรยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมาก่อนมีการสมรส หรือทรัพย์สินที่เป็นเครื่องใช้ส่วนตัว เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ หรือเครื่องใช้จำเป็น ในการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพ หรือทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาโดยการรับมรดก หรือโดยการให้โดยเสน่หาและสุดท้ายทรัพย์สิน ที่เป็นของหมั้น จะถือเป็นสินส่วนตัวของฝ่ายหญิง
- สินสมรส คือทรัพย์สินที่เป็นกรรมสิทธิ์ร่วมระหว่างคู่สมรสทั้งสองฝ่ายซึ่งคู่สมรสทั้งสองฝ่าย ซึ่งคู่สมรสได้มาระหว่างสมรสหรือมีพินัยกรรมเขียนเป็นหนังสือระบุให้เป็นสินสมรส และทรัพย์สินที่เป็นดอกผล ของสินส่วนตัว ถือเป็นสินสมรส จากการแบ่งประเภทของทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยาตามกฎหมายจะเห็นว่า ผลของการสมรสทำให้การกระทำใดก็ตามที่เกี่ยวกับเรื่องของทรัพย์สินเงินทองของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอีกฝ่ายต้อง มีส่วนร่วมทั้งรับผิดและชอบด้วย
1 Likes